วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประวัติผู้แต่ง



ประวัติผู้แต่ง


เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นกวีเอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีนามเดิมว่า หน เกิดเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดน่าจะอยู่ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่อสัญกรรม ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๘
เจ้าพระยาพระคลังท่านนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦๅชัย (บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ มีบุตรธิดาหลายคน ที่มีชื่อเสียง คือ
เจ้าจอมพุ่ม ในรัชกาลที่ ๒
เจ้าจอมมารดานิ่ม พระมารดาสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (มั่ง) ในรัชกาลที่ ๒
นายเกต ละนายพัด ซึ่งเป็นกวีและครูพิณพาทย์ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นต้นสกุล บุญ-หลง
รับราชการ
มีหลักฐานระบุไว้ว่า ท่านได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต ตำแหน่งนายด่านเมืองอุทัยธานี ครั้นเมื่อถึงปลายรัชกาล ที่เหตุระส่ำระสายเกิดจลาจลในพระนคร ท่านได้ลอบส่งคนนำหนังสือแจ้งเหตุภายในพระนครไปถวายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ภายหลังคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ซึ่งกำลังยกกองทัพไปตีเขมร
ผลงาน
แต่งในสมัยกรุงธนบุรี
- ลิลิตเพชรมงกุฎ
- อิเหนาคำฉันท์
แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- สามก๊ก (เป็นผู้อำนวยการแปล)
- ราชาธิราช (เป็นผู้อำนวยการแปล)
- กากีกลอนสุภาพ
- ร่ายยาวมหาชาติ กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
- ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
- โคลงสุภาษิต
- กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาที่วัดราชคฤห์
- ลิลิตศรีวิชัยชาดก
- สมบัติอมรินทร์คำกลอน (สมศักดิ์ อัมพรวิสิทธิ์โสภา และธัญลักษณ์ จุ้ยเรืองม.ป.ป.: ๒๑๐)
ลักษณะคำประพันธ์
แต่งเป็นร่ายยาว วิธีการแต่งยกคาถาภาษาบาลีขึ้นเป็นหลัก แล้วแปลแต่งเป็นภาษาไทยด้วยร่ายยาว ภาษาบาลีที่ยกมานั้นจะยกมาเป็นตอนๆ สั้นบ้างยาวบ้างตามลักษณะเรื่อง แล้วแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง
ร่ายยาว เป็นร่ายที่ใช้แต่งวรรณกรรมได้ตลอดเรื่อง โดยไม่มีคำประพันธ์ชนิดอื่นแต่งรวมหรือหากมีก็อยู่ในลักษณะแต่งแทรกเป็นตอนสั้นๆ เท่านั้น
แผนผัง
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
ร่ายยาว ๑ บทจะมีกี่คำก็ได้ และแต่ละวรรคจะมีกี่คำก็ได้แต่เท่าที่ปรากฏมักมี ๖-๑๕ คำ การส่งสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าจะส่งสัมผัสไปยังคำใดคำหนึ่งของวรรคต่อไปก็ได้ ยกเว้นคำสุดท้าย และถ้าส่งเป็นคำเอก คำรับก็มักเป็นคำเอกด้วย (แต่ไม่ถือเป็นกฎตายตัว) ตอนจบมักใช้คำว่า “นั้นแล”, “ฉะนี้”, “นั้นเถิด”, “ด้วยประการฉะนี้” เพราะร่ายยาวเป็นคำประพันธ์ที่แต่งขึ้นสำหรับใช้สวด เทศน์ หรือทำขวัญเท่านั้น
วรรณกรรมที่แต่งด้วยร่ายยาวเป็นเรื่องแรก คือ มหาชาติคำหลวง (ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งซ่อมขึ้น ๖ กัณฑ์ เพราะต้นฉบับขาดไปอันได้แก่ กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์จุลพล กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักบรรพ และกัณฑ์ฉกษัตริย์ โดยมีลักษณะเป็นการแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทยทีละประโยค
นอกจากนั้นก็ยังมี กาพย์มหาชาติ (ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม) มหาชาติกลอนเทศน์ และนันโทปนันทสูตรคำหลวง (พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ)
ในการแต่งร่ายยาวผู้แต่งจะต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำและสัมผัสในให้มีจังหวะรับกันอย่างสละสลวย เวลาอ่านจะรู้สึกเหมือนมีคลื่นเสียงเป็นจังหวะๆ
อนึ่งพึ่งสังเกตได้ว่า คำประพันธ์ประเภทร่ายยาวนี้คล้ายกับร้อยแก้วที่มีความคล้องจองกันที่เราได้พบเห็นและได้ยินได้ฟังกันโดยทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความนิยมหรือลักษณะนิสัยของความเป็น “เจ้าบทเจ้ากลอน” ของคนไทยเราได้เป็นอย่างดี
จุดประสงค์ในการแต่ง
เพื่อที่จะนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาสอนประชาชน
ที่มาของเรื่อง และเนื้อเรื่องย่อ ๑๓ กัณฑ์
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มาจากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก หรือที่เรียกว่า “พระเจ้าสิบชาติ” กัณฑ์มัทรี เป็นกัณฑ์ที่ ๙ ในทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์
เนื้อเรื่องย่อทั้ง ๑๓ กัณฑ์ มีดังนี้
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ โดยคัดเลือกสำนวนเยี่ยมๆ จากมหาชาติกลอนเทศน์ เพี่อใช้เทศน์ให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ภายในวันเดียว เพื่อให้เข้าใจความหมายชัดเจน เพื่อเทศน์คาถาพันให้ครบและเพื่อให้เป็นแบบเรียนกวีนิพนธ์ด้วย ดังมีรายชื่อผู้แต่งตามกัณฑ์ต่างๆ ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโณรสทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงสาธุการประกอบ มี ๑๙ พระคาถา กล่าวถึง พระเจ้าสีพี กษัตริย์แห่งแคว้นสีพีได้ทรงอภิเษกพระราชโอรส คือ พระเจ้าสญชัยกับพระนางผุสดีพระธิดาพระเจ้ากรุงมัทราช พระนางผุสดีนี้ในอดีตชาติเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้าพันธุมราช พระองค์ได้พระราชทานแก่นจันทน์แดงแก่พระนาง พระนางได้นำถวายพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ได้เป็นพุทธมารดา ต่อมาได้จุติมาเป็นธิดาพระเจ้ากิสราช ชื่อพระนางสุธรรมา สิ้นชีพแล้วได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้เป็นมเหสีของพระอินทร์ เมื่อจุติจากสวรรค์ได้ทูลขอพร ๑๐ ประการ และได้สมประสงค์
๒. กัณฑ์หิมพานต์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงตวงพระธาตุประกอบ มี ๑๓๔ พระคาถา กล่าวถึง พระนางผุสดีจุติจากสวรรค์มาเป็นธิดาพระเจ้ามัทราช ครั้นมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย ทรงมีพระราชโอรสนามว่า “เวสสันดร” วันเดียวกันนั้นนางช้างก็ตกลูกเป็นช้างเผือกที่โรงช้างต้นได้ชื่อว่า “ช้างปัจจัยนาค” ช้างประกอบบารมีพระเวสสันดร เพราะเป็นเหตุให้พระเวสสันดรได้ทรงบริจาคปิยบุตรทารทานบารมี พระเวสสันดรได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี ทรงมีพระโอรสนามว่า “ชาลี” และพระธิดานามว่า “กัณหา”
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ เป็นของสำนักวัดถนน ใช้เพลงพญาโศก ประกอบ มี ๒๐๙ พระคาถา กล่าวถึง กาลครั้งนั้นเมืองกลิงคราษฎร์เกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง ประชาชนจึงกราบทูลพระเจ้ากลิงคราษฎร์ให้แต่งพราหมณ์ ๘ คน เป็นทูลมาขอช้างปัจจัยนาค พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ไปชาวเมืองสีพีจึงเคียดแค้นมากพากันร้องเรียนกล่าวโทษให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมืองไป พระเจ้ากรุงสญชัยจำต้องทำตาม พระนางผุสดีทรงทราบก็มาทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่พระเจ้ากรุงสญชัยไม่ทรงยินยอม เพราะเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ก่อนที่พระเวสสันดรจะออกจากพระนครก็ได้ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน และแก้วแหวนเงินทองมากมายแก่ยาจกวณิพกทั้งหลายแล้วก็เสด็จออกจากพระนครไปพร้อมด้วยพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ในระหว่างทางได้มีคนมาขอม้าและรถทรงไปจนหมด ในที่สุดทั้งสี่กษัตริย์ก็ได้เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปยังเขาวงกต
๔. กัณฑ์วนปเวสน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงพระยาเดิน ประกอบ มี ๕๗ พระคาถา กล่าวถึงเมื่อกษัตริย์ทั้ง ๔ เสด็จมาถึงมาตุลนครแคว้นเจตราษฎร์ พระเจ้าเจตราษฎร์ได้ทราบเรื่องก็ชวนพระเวสสันดรกลับเมืองสีพีโดยทูลรับอาสาว่าจะไปขออภัยโทษพระเจ้ากรุงสญชัยให้ แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธว่าการเนรเทศเป็นเรื่องของชาวเมือง พระราชบิดาไม่ทรงมีพระราชอำนาจในเรื่องนี้ พระเจ้าเจตราษฎร์ จึงทูลเชิญพระเวสสันดรไปครองเมืองมาตุลนคร โดยจะแบ่งราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง แต่พระเวสสันดรปฏิเสธ พระเจ้าเจตราษฎร์จึงจำพระทัยให้พระเวสสันดรเสด็จไปยังเขาวงกตโดยส่งพรานเจตบุตรไปคอยเฝ้าระวังภัยอันตรายให้และกำชับไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนสี่กษัตริย์ได้ จะอนุญาตเฉพาะทูตที่มาจากเมืองสีพีเท่านั้น เมื่อพระเวสสันดรไปถึงเขาวงกต ปรากฏว่าพระอินทร์ได้ให้พระวิศวกรรมเทพบุตรไปสร้างอาศรมพร้อมด้วยเครื่องใช้ในการบำเพ็ญพรตไว้พร้อมแล้ว ทั้งสี่พระองค์ก็ผนวชเป็นดาบสบำเพ็ญศีลพรตแผ่เมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์และมวลมนุษย์ ทรงประทับอยู่ที่เขาวงกตนานนับได้เจ็ดเดือนเศษ
๕. กัณฑ์ชูชกพระเทพมุนี (ด้วง) วัดสังข์กระจายได้รจนาขึ้น ใช่เพลงเซ่นเหล้า ประกอบ มี ๗๙ พระคาถา กล่าวถึง มีพราหมณ์ยากจนไร้ญาติพี่น้องคนหนึ่งชื่อชูชก อยู่บ้านตำบลทุนวิฐชายแดนเมืองกลิงคราษฎร์ ติดต่อกับแคว้นสีพี มีอาชีพขอทาน เงินที่ขอทานได้มาก็เก็บสะสมไว้เป็นก้อนใหญ่ถึง ๑๐๐ กหาปณะ (ประมาณ ๔๐๐ บาท) จะเอาไว้กับตัวก็เกรงจะมีอันตรายสูญหายไป จึงนำไปฝากพราหมณ์ผัวเมียเพื่อนบ้านที่ชอบพอกันไว้ แล้วตัวเองก็เที่ยวไปขอทานตามที่ต่างๆ ด้วยความโลภเป็นเวลานาน พราหมณ์ผัวเมียที่รับฝากเงินไว้คิดว่าชูชกตายแล้ว จึงเอาเงินที่ฝากไว้ไปใช้จนหมด เมื่อชูชกกลับมาทวงก็ไม่มีเงินให้ ครั้นจนปัญญาจึงยกลูกสาวชื่อ “อมิตตดา” ซึ่งมีอายุเพียง ๑๖ ปี ให้เป็นเมียชูชกที่แก่คราวพ่อ แล้วพากันไปอยู่บ้านของชูชก พราหมณ์หนุ่มๆในหมู่บ้านทราบว่าชูชกได้เมียสาวมาก็ชวนกันมาดู เห็นนางอมิตตดาสวยและปฏิบัติต่อชูชกดีมากก็อยากให้ภรรยาของพวกตนเอาอย่างบ้าง จึงพูดเกรี้ยวกราดด่าว่าภรรยาของตน หลายรายที่เคี่ยวเข็ญทุบตีภรรยาของตนอย่างทารุณ เป็นเหตุให้ภรรยาของพราหมณ์เหล่านั้นโกรธแค้นและมาประชุมปรึกษาหารือกัน ค้นหาสาเหตุ ในที่สุดก็ทราบว่ามาจากนางอมิตตดา จึงพากันไปดักอยู่ที่ท่าน้ำ เมื่อนางอมิตตดาไปตักน้ำก็รุมด่าว่าเสียดสีด้วยคำพูดหยาบคาย นางอมิตตดาเลยไม่ตักน้ำหนีกลับบ้านไปต่อว่าชูชกว่าเป็นต้นเหตุให้นางถูกพราหมณีด่า และไม่ยอมทำงานบ้านอีก พร้อมกับบังคับให้ชูชกไปหาคนใช้ชายหญิงมาให้นาง ชูชกปฏิเสธด้วยจนปัญญา ในที่สุดนางอมิตตดาก็นึกได้ว่าพระเวสสันดรซึ่งออกไปบวชเป็นฤษีอยู่ที่เขาวงกตนั้นเป็นคนชอบบริจาคทาน จึงขอร้องให้ชูชกเดินทางไปพบพระเวสสันดรขอสองกุมาร คือ ชาลีและกัณหามาเป็นคนใช้ ชูชกไม่ยอมไป อ้างว่าทางไกลเท่ากับใช้ให้ตนไปตาย แม้ว่านางอมิตตดาจะพูดปลอบและด่าอย่างไรชูชกก็ไม่ยอมไปท่าเดียว จนในที่สุดนางก็ขู่ว่าถ้าไม่ไปจะไม่ยอมอยู่ด้วย และจะหนีไปมีผัวใหม่ ชูชกจนใจจึงยอมไปโดยเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวให้เป็นชีปะขาวออกเดินทางจนกระทั่งไปพบเจตบุตรพรานป่าที่มีหน้าที่คุ้มครองภัยให้แก่พระเวสสันดร พรานเจตบุตรพบชูชกพราหมณ์ก็ทราบว่าจะต้องมาขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากพระเวสสันดรแน่ แต่เวลานี้ทรัพย์สมบัติอะไรก็ให้ไปจนหมดสิ้นแล้วนอกจากโอรส ธิดา และมเหสีเท่านั้น พรานเจตบุตรจึงขู่ชูชกว่าจะฆ่า แต่ชูชกก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมและความฉลาดบอกว่าตนเป็นราชทูตมาจากสีพีเพื่อที่จะทูลเชิญพระเวสสันดรให้กลับไปครองราชย์ดังเดิม พรานเจตบุตรไม่เคยเห็นราชทูต ประกอบกับชูชกพูดเป็นเชิงจะนำความดีความชอบไปกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยให้ด้วยถ้าบอกทางไปเขาวงกตให้ พรานเจตบุตรจึงหลงกลบอกทางไปเขาวงกตให้แก่ชูชก
๖. กัณฑ์จุลพล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงรจนาขึ้นใช้เพลงคุกพาทย์ ประกอบ มี ๓๕ พระคาถา กล่าวถึง เมื่อเลี้ยงอาหารชูชกเสร็จแล้ว พรานเจตบุตรก็จัดหาเสบียงอาหารให้ชูชกติดตัวไปกินกลางทาง แล้วบอกทางไปเขาวงกตให้อย่างละเอียดว่าภูเขาต้นทางชื่อ “เขาคันธมาน์” มีไม้หอมนานาชนิดขึ้นคลุมเขาทำให้มีกลิ่นฟุ้งตลอดเวลา ต่อไปให้เดินมุ่งไปยังภูเขาที่เป็นทิวสีเขียวครามซึ่งเรียกว่า “เขาอัญชัญ” มีพันธุ์ไม้ที่สวยงาม มีนกงามหลายชนิดและมีนกส่งเสียงพูดเป็นภาษามนุษย์ได้ จากนั้นไปก็จะเป็นป่ามะม่วง ป่าตาล ป่ามะพร้าว และป่าดอกไม้อันส่งกลิ่นหอมตลบไปทั่วป่า ให้เดินทางต่อไปจนถึงทางเดินเล็กๆ ที่เดินได้เฉพาะคนเดียวเป็นทางเดินข้ามเขา ซึ่งจะตรงไปถึงอาศรมของพระอัจจุตฤษี ซึ่งท่านจะบอกทางไปเขาวงกตให้ เมื่อจะเดินทางไปพบพระอัจจุตฤษี ชูชกได้กระทำประทักษิณพรานเจตบุตร ๓ รอบแล้วก็เดินไป
๗. กัณฑ์มหาพน พระเทพโมลี (กลิ่น) ได้รจนาขึ้น ใช้เพลงเชิดกลอง ประกอบ มี ๘๐ พระคาถา กล่าวถึง ชูชกออกเดินทางไปเขาวงกต ตามคำแนะนำของพรานเจตบุตร และได้พบพระอัจจุตฤษีกำลังนมัสการกองไฟอยู่ก็เข้าไปทักทายถามทุกข์สุขแล้วจึงบอกความประสงค์ว่าตนอยากจะเฝ้าพระเวสสันดรขอให้บอกทางไปให้ด้วย พระอัจจุตฤษีทราบก็โกรธ เพราะเข้าใจว่าจะไปขอพระมัทรี หรือไม่ก็ขอสองกุมารกัณหา ชาลี เป็นแน่ แต่ชูชกก็ชี้แจงว่าไม่ได้มาเพราะเหตุนี้ แต่มาเพื่อเยี่ยมเยียนตามธรรมดาของผู้ที่คุ้นเคยกันมา ตั้งแต่จากพระนครมายังไม่เคยพบปะกันเลย ขอให้พระอัจจุตฤษีช่วยบอกทางให้ด้วย พระอัจจุตฤษีหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ก็ต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี ให้พักแรมค้างคืน รุ่งเช้าก็แนะนำและชี้ทางไปเขาวงกตให้โดยให้สังเกตหมู่ไม้ สัตว์ระหว่างเดินทาง ชูชกทำประทักษิณพระอัจจุตฤษีแล้วก็ออกเดินทางต่อไป
๘. กัณฑ์กุมาร เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้รจนา ใช้เพลงโอดเชิดฉิ่ง ประกอบ มี ๑๐๑ พระคาถา เป็นการกล่าวถึงชูชกที่เดินทางมาตามทางที่อัจจุตฤษีชี้ให้ จนถึงอาศรมของพระเวสสันดรก็เป็นเวลาใกล้ค่ำพอดี เห็นพระนางมัทรีอยู่จึงไม่เข้าไปขอสองกุมารเพราะกลัวจะถูกขัดขวาง จึงนอนพักค้างคืนก่อน ฝ่ายพระนางมัทรีก็ฝันร้ายเกิดอาเพศต่างๆ ว่ามีชายผิวดำรูปร่างใหญ่โตพังประตูพระอาศรมเข้ามาฟันแขนทั้งสอง ควักตาและดวงใจของพระนางไป รุ่งเช้าพระนางมัทรีจึงให้พระเวสสันดรทำนายฝัน พระเวสสันดรทรงทราบว่าจะมีคนมาขอสองกุมารแต่ไม่บอกพระนางมัทรีเพราะกลัวจะขัดขวางการบำเพ็ญทานของพระองค์ จึงทรงทำนายเลี่ยงไป เมื่อพระนางมัทรีออกไปหาผลไม้แล้ว ชูชกก็เข้าไปขอสองกุมารต่อพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ประทานให้ และทรงกำหนดค่าตัวสองกุมารไว้ คือ พระชาลีมีค่าตัว ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง ส่วนของพระกัณหากำหนดค่าตัว ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง และโคตัวผู้ โคตัวเมีย ช้าง ม้า ทาสชาย ทาสหญิง อย่างละ ๑๐๐ เมื่อชูชกได้สองกุมารไป ก็ตีต้อนไปต่อหน้าพระเวสสันดร จนกระทั่งพ้นเขตป่าไปในเวลาใกล้ค่ำ
๙. กัณฑ์มัทรี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้รจนา ใช้เพลงทยอยโอด ประกอบ มี ๙๐ พระคาถา (เนื้อหาย่อเป็นตอนที่นำมาให้เรียน)
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงกลม ประกอบ มี ๔๓ พระคาถา กล่าวถึง พระอินทร์ทรงเห็นว่าพระเวสสันดรได้ทรงบริจาคบุตรเป็นทานไปแล้ว ถ้ามีใครมาทูลขอพระนางมัทรีจะต้องบริจาคให้เป็นทานอีก จะทำให้พระเวสสันดรลำบาก ไม่มีใครหาผลไม้ให้ และเพื่อให้พระเวสสันดรได้ทรงบำเพ็ญการบริจาคทานดังพระราชประสงค์ พระอินทร์จึงได้แปลงองค์เป็นพรามหณ์ชราไปขอพระนางมัทรี ซึ่งพระเวสสันดรก็ประทานให้ เมื่อพระอินทร์ได้รับพระนางมัทรีแล้วก็ทรงฝากพระเวสสันดรไว้ เพื่อให้พระนางได้อยู่รับใช้พระเวสสันดรต่อไป แล้วพระอินทร์ก็แสดงพระองค์ให้ปรากฏด้วยการเหาะขึ้นไปบนอากาศ และให้พระเวสสันดรขอพรได้ ๘ ประการ พรมีดังนี้
๑) ขอให้พระเจ้ากรุงสญชัยมารับกลับคืนไปครองพระนคร
๒) ขอให้ช่วยนักโทษประหารให้รอดพ้นจากความตาย
๓) ขอให้เป็นที่พึ่งของคน ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย
๔) ขอให้มีใจยินดีต่อภรรยาของตนแต่ผู้เดียว ไม่มีการล่วงลามไปถึงภรรยาผู้อื่น
๕) ขอให้โอรสมีอายุยืน และมีอำนาจมาก
๖) ขอให้มีสรรพาหารไว้สำหรับบำเพ็ญทานโดยเทวดาบันดาลให้
๗) ขอให้ทรัพย์ที่บริจาคทานอย่าได้หมดสิ้น ไม่ว่าจะบริจาคมากหรือน้อยเป็นเวลานานเท่าใด และอย่าได้มีใจเบื่อหน่ายในการบริจาคทาน
๘) เวลาสิ้นชีพแล้ว ขอให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูง
๑๑. กัณฑ์มหาราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงกราวนอก ประกอบ มี ๖๙ พระคาถา กล่าวถึง เมื่อชูชกพาสองกุมารเดินทางกลับบ้านทุนวิฐแคว้นกลิงคราษฎร์ เดินมาได้ ๑๔ วัน (เส้นทาง ๖๐ โยชน์ หรือ ๙๖๐ กิโลเมตร) ระหว่างทางเทวดาได้คอยคุ้มครองสองกุมารตลอดเวลา ครั้นมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งแยกไปกลิงคราษฎร์ ทางหนึ่งแยกไปเมืองสีพี เทวดาดลใจให้ชูชกไปเมืองสีพี และในคืนนั้นพระเจ้ากรุงสญชัยทรงสุบินนิมิตว่า ขณะที่พระองค์ทรงว่าราชการอยู่นั้นมีชายผู้หนึ่งรูปร่างดำใหญ่ ท่าทางน่ากลัว นำดอกบัวเข้ามาถวายคู่หนึ่ง ดอกหนึ่งเพิ่งเริ่มบาน อีกดอกหนึ่งยังตูมอยู่ พระองค์ทรงรับดอกบัวนั้นมาแนบไว้ที่พระอุระ แล้วแซมไว้เหนือพระกรรณทั้งสอง จึงให้โหรทำนาย โหรทูลว่า ในวันรุ่งขึ้นจะมีพระประยูรญาติที่จากไปนานกลับมาเฝ้า
พอวันรุ่งขึ้นชูชกได้พาสองกุมารคือ พระชาลี และพระกัณหา เดินผ่านหน้าพระที่นั่งขณะที่พระเจ้ากรุงสญชัยออกว่าราชการ พระองค์ได้โปรดฯ ให้ทหารนำตัวมาทรงซักถาม ทราบเรื่องแล้วให้ไถ่ตัวพระชาลีและพระกัณหา ตามราคาที่พระเวสสันดรกำหนดไว้ และพระราชทานเลี้ยงอาหารชูชกด้วย ชูชกอยู่ได้ไม่กี่วันก็ตายเพราะบริโภคอาหารเกินขนาด แล้วเมื่อประกาศหาญาติของชูชกมารับทรัพย์ก็ไม่มีใครมารับ จึงให้ขนทรัพย์สินที่ไถ่สองกุมารคืนเข้าท้องพระคลัง พอดีกับมีพราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ๘ คนที่เคยมาขอช้างปัจจัยนาคได้นำช้างมาถวายคืน พระเจ้ากรุงสญชัยจึงโปรดฯ ให้เป็นช้างทรงของพระชาลีในการนำทัพไปยังเขาวงกต
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรจนาขึ้น ใช้เพลงตระนอน ประกอบ มี ๓๖ พระคาถา กล่าวถึง ตอนที่หกกษัตริย์ คือ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา กลับคืนสู่พระนคร กล่าวคือ เมื่อพระชาลีนำทัพไปถึงสระมุจลินท์ก็หยุดทัพตั้งค่าย โดยพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จเข้าไปยังอาศรมของพระเวสสันดรก่อน ต่อมาก็เป็นพระนางผุสดี พระชาลี และพระกัณหา เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์พบกันก็มีความยินดีระคนกับความเศร้าสลดอย่างสุดซึ้งจึงถึงแก่วิสัญญีภาพสลบหมดทั้งหกพระองค์ ตลอดรวมทั้งข้าราชบริพารด้วย ครั้นพระอินทร์ทรงทราบเหตุจึงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาเป็นครั้งแรก กษัตริย์ทั้งหกและข้าราชบริพารก็ฟื้นจากสลบทันที ทั้งหมดก็กราบบังคมทูลขออภัยโทษต่อพระเวสสันดรที่ได้กระทำต่อพระองค์ท่านในเรื่องที่แล้วๆมา แล้วทูลเชิญให้เสด็จกลับไปครองกรุงสีพีตามเดิม
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรจนาอีกเช่นกัน ใช้เพลงกลองโยน ประกอบ มี ๔๘ พระคาถา กล่าวถึง พระเวสสันดรทรงฟังประชาชนชาวสีพีทูลเชิญให้กลับพระนครก็ดำริว่าแต่ก่อนพระองค์ทรงดำรงในทศพิธราชธรรม ได้แก่
๑) ทาน คือ การให้
๒) ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓) บริจาค คือ การเสียสละให้เป็นสาธารณประโยชน์
๔) อาชวะ คือ ความซื่อสัตย์สุจริต
๕) มัทวะ คือ ความสุภาพอ่อนน้อม
๖) ตบะ คือ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลศ
๗) อโกธะ คือ ความไม่โกรธ
๘) อหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน
๙) ขันติ คือ ความอดทน
๑๐) อวิโรธนะ คือ การประพฤติตามทำนองคลองธรรม
ประชาชนยังบังอาจขับไล่เนรเทศ จึงไม่ทรงรับที่จะกลับไปครองราชย์ดังก่อนเก่า ประชาชนก็วิงวอนและรับว่าจะไม่ให้เกิดเหตุดังเก่าก่อนขึ้นอีก ในที่สุดพระเวสสันดรก็ทรงยินยอมสละเพศฤๅษีกลับไปครองนครดังเดิม ด้วยความสุขเกษมศานต์จนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา จึงได้สู่สวรรคาลัย(พรทิพย์ แฟงสุด๒๕๕๒: ๑๒๗ – ๑๓๖)

























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น