วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิเคราะห์เรื่อง



บทที่ ๒
วิเคราะห์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก
 กัณฑ์มัทรี

ข้อคิดจากเรื่อง
๑. ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้นยิ่งใหญ่นัก แนวคิด พระนางมัทรีมีความรักในสองกุมารยิ่งนัก พระนางทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังสติปัญญาที่มีเพื่อค้นหาสองกุมารจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง และสิ้นเสียงที่ร่ำร้องเรียกหา พระนางมัทรีดั้นด้นตามหาสองกุมารในป่าโดยมิได้พรั่นกลัวต่อภยันตรายเลยถึง ๓ รอบ จนกระทั่งหมดกำลังและสิ้นสติไปในที่สุด
๒. ผู้ที่ปรารถนาสิ่งต่างๆ อันยิ่งใหญ่จะต้องทำด้วยความอดทนและเสียสละอันยิ่งใหญ่ด้วย แนวคิด เฉกเช่นพระเวสสันดรที่ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ จึงต้องทรงบำเพ็ญบุตรทานที่ถือว่าเป็นทานที่สูงส่ง พระองค์ต้องทรงตัดความอาลัยรักที่มีต่อพระลูกรักทั้งสอง ทั้งยังทรงต้องตัดความรักความสงสารที่มีต่อพระมเหสีมัทรีด้วย ทั้งๆที่ในพระทัยนั้นต้องเจ็บปวดยิ่งนักเพราะไหนจะทรงห่วงใยพระลูกรัก และยังต้องเสแสร้งแกล้งทำเป็นตัดพ้อต่อว่าพระนางมัทรีด้วยการกล่าวบริภาษที่รุนแรง และยังต้องทรงทนทำเฉยเมยไม่แยแสกับการตัดพ้อต่อว่าคร่ำครวญของพระนางมัทรีด้วย
๓. ความซื่อสัตย์ระหว่างสามีภรรยาทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข แนวคิด เฉกเช่นพระนางมัทรีมีความจงรักภักดีต่อพระเวสสันดรยิ่งนัก ไม่ว่าพระเวสสันดรจะทรงกล่าวบริภาษพระนางอย่างรุนแรงก็ตาม อาทิ หาว่าพระนางคบชู้สู่ชาย แม้จะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่พระนางยิ่งนัก แต่พระนางมัทรีก็มิได้ทรงถือโกรธ ทั้งยังกล่าวชี้แจงเหตุผลตามความเป็นจริงอีกด้วย
๔. ผู้มีปัญญาย่อมแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดี แนวคิด เห็นได้จากพระเวสสันดรที่ทรงมีปฏิภาณไหวพริบเป็นเยี่ยมในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเมื่อทรงเห็นว่าพระนางมัทรีกำลังมีแต่ความทุกข์เศร้าโศกที่ตามหาสองกุมารไม่พบ พระองค์จึงทรงเบี่ยงเบนความคิดและอารมณ์ทุกข์โศกของพระนางด้วยการทำเป็นตัดพ้อต่อว่าด่าทอที่พระนางมัทรีกลับมาถึงพระอาศรมค่ำๆ มืดๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนซึ่งก็ทำให้พระนางมัทรีบรรเทาความทุกข์โศกลง เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกต่อว่าทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด ทั้งยังต้องคิดถ้อยคำกราบทูลถึงเหตุผลที่แท้จริงให้พระสวามีทรงทราบอีกด้วยและครั้นพระเวสสันดรทรงเห็นพระนางสร่างโศกแล้วจึงทรงเล่าความจริงให้ฟัง
๕. การบริจาคบุตรทานงบารมีเป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่ใครจะกระทำได้ง่ายๆ แนวคิด เฉกเช่นพระเวสสันดรที่ทรงกระทำด้วยการให้บุตรทั้งสองแก่ชูชกทั้งๆ ที่ทรงรู้ว่าชูชกจะนำไปเป็นข้ารับใช้ พระองค์ก็ยังมีพระทัยอันแน่วแน่ที่จะทรงกระทำ และอีกทั้งพระนางมัทรีเมื่อทรงทราบว่าพระเวสสันดรได้ทรงบำเพ็ญทานดังกล่าว พระนางก็ยังทรงยินดีร่วมอนุโมทนาด้วยอีก
คุณค่าของเรื่อง
๑. ด้านวรรณศิลป์ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์หลายประการ ที่เห็นได้เด่นชัด ได้แก่
๑) การใช้ธรรมชาติเปรียบกับความทุกข์โศกของพระนางมัทรี ในกัณฑ์มัทรีนี้จะเห็นได้ว่าธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องกับพระนางมัทรีมาก เพราะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงลางบอกเหตุว่าพระนางจะต้องประสบกับเรื่องร้ายๆ อาทิ จากคำประพันธ์ที่ว่า “...พลางพิศดูผลาผลในการไพรที่นางเคยได้อาศัยทรงสอยอยู่เป็นนิตย์ผิดสังเกต เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร...” และจากคำประพันธ์ที่ว่า “...โอ พระอาศรมเจ้าเอ๋ยน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก่อนดูนี่สุกใสด้วยสีทอง เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน...”
จะเห็นได้ว่าเป็นการใช้ธรรมชาติเป็นฉากที่ร่วมพรรณนาความ เพราะมีการใช้ถ้อยคำให้เกิดจินตภาพและเหมาะสมกับตัวละคร อีกทั้งยังสร้างบรรยากาศให้กระทบอารมณ์ของผู้อ่านได้ดีอีกด้วย ทั้งหม่นหมอง โศกเศร้าและสงสาร
๒) การเล่นเสียง เป็นลักษณะเด่นของวรรณศิลป์ใน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีนี้ คือ มีทั้งการเล่นเสียงพยัญชนะ สัมผัสสระ และการเล่นคำซ้ำ อาทิ
การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ มักเกิดจากการใช้พยัญชนะเสียงเดียวกันติดๆกันหลายคำ เช่น
- “...แถวโน้นก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง...”
การเล่นเสียงสัมผัสสระ เช่น
- “...แต่ลูกรักทั้งคู่ไปอยู่ไหนไม่เห็นเลย...”
- “...มาพานพบขบกัดตัดชีวิตพระลูกข้าพาไปกินเป็นอาหาร...”
- “...แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองรา...”
๓) การเล่นคำ มีการเล่นคำที่เรียกกันว่า “สะบัดสะบิ้ง” ซึ่งจะแบ่งคำออกเป็น ๒ กลุ่มเท่าๆ กัน แล้วซ้ำคำเดียวกันที่มีสระเสียงสั้นในพยางค์หน้า ส่วนพยางค์หลังจะเล่นเสียงพยัญชนะเดียวกันแต่ต่างสระ ก่อให้เกิดจังหวะคำที่ไพเราะ เช่น
- “...ทรงพระสรวลสำรวลร่าระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน...”
การเล่นคำซ้ำ เช่น
- “...โอ แต่ก่อนเอยแม่เคยได้ยินแต่เสียงเจ้าเจรจาแจ้วๆ อยู่ตรงนี้...”
- “...พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึมๆ พุ่มไม้ครึ้มเป็นเงาๆ ชะโงกเงื้อม พระเนตรเธอแลเหลือบให้ลายเลื่อมเห็นเป็นรูปคนตะคุ่มๆ อยู่คล้ายๆ แล้วหายไป...”
๔) การใช้ภาพพจน์ ในกัณฑ์มัทรีนี้มีการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพตามไปด้วย ทั้งยังมีการใช้ภาพพจน์หลายลักษณะ คือ
การใช้ภาพพจน์แบบอุปมา คือ การเปรียบเหมือน จะมีการใช้คำที่แสดงการเปรียบเหมือน อาทิ เหมือน ประหนึ่ง ดุจ ดัง ดั่ง ฯลฯ เช่น
- “...ทรงพระพักตร์ผิวผ่องดุจเนื้อทองไม่เทียมสี...”
- “...เสมือนหนึ่งลูกหงส์เหมราชปักษิณ ปราศจากมุจลินท์ไปตกคลุกในโคลนหนอง...”
- “...มัทรีสัตยาสวามิภักดิ์รักผัวเพียงบิดาก็ว่าได้...”
การใช้ภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ คือ การเปรียบเป็น เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ใช้คำที่มีความหมายว่าเปรียบให้เห็น อาจใช้กริยา “คือ” หรือ “เป็น” ในเชิงเปรียบหรือไม่ใช้ก็ได้ เช่น
- “...ทั้งแปดทิศก็มืดมัวมิดมัวมนทุกหนแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาดแดงเป็นสายเลือด...”
- “...พระคุณเอ่ยถึงพระองค์จะสงสัย ก็น้ำใจของมัทรีนี้กตเวทีเป็นไม้เท้าก้าวเข้าสู่ที่ทางทดแทน...”
การใช้ภาพพจน์แบบสัทพจน์ เป็นการเลียนเสียง ทำให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น เช่น
- “...ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย...”
การใช้ภาพพจน์แบบบุคคลวัต คือ ให้สิ่งไม่มีชีวิตทำอากัปกิริยาเลียนแบบมนุษย์ เช่น
- “...ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก...”
- “...ทั้งนกหกก็งัวเงียเหงาเงียบทุกรวงรัง...”
- “...รัศมีพระจันทร์ก็มัวหมองเหมือนหนึ่งจะเศร้าโศกแสนวิปโยคเมื่อยามปัจจุสมัย...”
๕) รสในวรรณคดีไทยวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มีครบทั้ง ๔ รส คือ
เสาวรจนี เป็นบทชมโฉม ชมความงาม เช่น ตอนที่พระเวสสันดรกล่าวชมพระนางมัทรีว่าเป็นผู้ที่มีความงดงามยิ่งนักใครเห็นใครก็รัก ดังคำประพันธ์ที่ว่า
“...เจ้าผู้มีพักตร์อันผุดผ่องเสมือนหนึ่งเอาน้ำทองเข้ามาทาบทับประเทืองผิว ราวกะว่าจะลอยลิ่วเลื่อนลงจากฟ้า ใครได้เห็นเป็นขวัญตาเต็มหลงละลายทุกข์ปลุกเปลื้องอารมณ์ชายให้เชยชื่น...”
นารีปราโมทย์ เป็นบทเกี้ยว โอ้โลม ในทางรักใคร่พิศวาส เช่น ตอนที่พระนางมัทรีวอนขอทางจากสัตว์ใหญ่ทั้งสามที่นอนขวางทางเดิน พระนางทรงใช้ถ้อยคำที่ไพเราะทั้งๆ ที่น้ำพระเนตรนองหน้า ทำให้บรรดาสัตว์ (เทวดาแปลงกาย) เหล่านั้นต้องยอมเปิดทางให้
พิโรธวาทัง เป็นบทตัดพ้อต่อว่า แสดงความโกรธ ความแค้น เสียดสี ดังตอนที่พระเวสสันดรกล่าวบริภาษพระนางมัทรีที่กลับมาถึงอาศรมจนมืดค่ำ
สัลลาปังคพิสัย เป็นบทโศก คร่ำครวญ เศร้าสร้อย เสียอกเสียใจ ในกัณฑ์มัทรีนี้ ตอนที่เป็นบทของพระนางมัทรีจะเป็นสัลปังคพิสัยเกือบหมด อันแสดงถึงความเศร้าศก คร่ำครวญต่อพระกุมารเป็นหนักหนาและทั้งต่อพระเวสสันดรด้วย
๒. ด้านสังคม
๑) สภาพชีวิตและสังคมไทยสมัยก่อนผู้หญิงต้องพึ่งสามี ดูแลปรนนิบัติลูกและสามี แต่ปัจจุบันผู้หญิงทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน
๒) ค่านิยมของสังคมไทยผู้หญิงจะต้องซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อผู้เป็นสามี ไม่ประพฤติตนนอกใจให้เสื่อมเสีย รวมทั้งสามีด้วย ครอบครัวจะได้มีความสงบสุข
๓) คติการเลี้ยงดูลูกผู้หญิงสมัยก่อนจะต้องอบรมเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองอย่างทะนุถนอม เพราะถือว่าเป็นที่พึ่งในวันข้างหน้า ลูกจะได้เลี้ยงดูบิดามารดาด้วยความกตัญญูเช่นกัน
๔) ความเชื่อบางประการ เช่น เรื่องเทพยดา ลางบอกเหตุ ความเชื่อในผลบุญกุศลที่ทำ
๕) ประเพณีนิยม ได้แก่ การเห่กล่อมลูก ประเพณีงานศพ ประเพณีการออกบวช
๓. ด้านการนำไปใช้
จากเรื่องพระเวสสันดร กัณฑ์มัทรี สามารถวิเคราะห์คติในการนำไปใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้
๑) ผู้ที่เป็นใหญ่จะต้องมีคุณธรรม และขันติธรรม
๒) ผู้ที่เป็นใหญ่จะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
๓) ความซื่อสัตย์และกตัญญูเป็นสมบัติที่ประเสริฐของมนุษย์
๔) ชัยชนะที่แท้จริงคือชนะใจตนเอง
๕) การอธิบายเหตุผลตามความเป็นจริง มิใช่เป็นการแก้ตัวให้พ้นผิด แต่เป็นการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจ


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น